ข้อดีข้อเสียของการผ่าคลอด
ข้อดีข้อเสียของการผ่าคลอด
ในปัจจุบันทางการแพทย์มีการวินิจฉัยหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้นจากการตรวจเช็กสุขภาพครรภ์ตามแพทย์นัดเป็นระยะ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างคลอด
ซึ่งถ้าแพทย์มีความเห็นว่าการคลอดแบบธรรมชาติอาจไม่ปลอดภัยต่อทั้งแม่และลูกน้อย เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ทางมารดาและทารก ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่มีภาวะความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงเป็นโรคติดเชื้อที่อวัยวะเพศ โรคเริม โรคหูดหงอนไก่ ตั้งครรภ์แฝด มีภาวะรกเกาะต่ำ มีภาวะสายสะดือย้อย ลูกอยู่ในท่าก้น หรือ ลูกตัวใหญ่เกินกว่าที่จะคลอดปกติ แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีการผ่าคลอดลูก เพื่อนำทารกออกมาได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
จะเห็นได้ว่าคุณแม่มีความมั่นใจในตัวแพทย์กับเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น และการเลือกวิธีการคลอดก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้ที่ตั้งครรภ์ ดังนั้นการผ่าคลอดลูกตามความต้องการของมารดาจึงเพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นการผ่าคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้
ซึ่งมีหลายเหตุผลที่มารดาหรือครอบครัวเลือกที่จะผ่าคลอด เช่น ความสะดวกในการกำหนดวันคลอดตามฤกษ์ ที่ต้องการ กลัวความเจ็บและภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดทางช่องคลอด กลัวช่องคลอดหย่อน กลัวทารกขาดออกซิเจน เป็นต้น ดังนั้นก่อนติดสินในการผ่าคลอดลูกเราควรทำความเข้าใจหรือเรียนรู้เกี่ยวกับการผ่าคลอดกันให้มากขึ้นเพื่อให้ลูกน้อยได้รับสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ
สิ่งที่ควรรู้ก่อนผ่าคลอด
ข้อดีการผ่าคลอด
- เหมาะสำหรับคุณแม่ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- กำหนดเวลาคลอดที่แน่นอนได้
- สะดวก มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า
- ไม่ต้องเผชิญกับอาการเจ็บครรภ์คลอด
- สามารถทำหมันได้ทันที
ข้อเสียการผ่าคลอด
- ร่างกายฟื้นตัวช้า ไม่สามารถให้นมลูกได้ทันที
- เสียเลือดมาก เจ็บแผลนาน
- การผ่าตัดคลอดจะทําได้คุณแม่ต้องได้รับยาระงับความรู้สึกหรือยาสลบ อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ เช่น มีความดันโลหิตลดต่ำลงทันทีจากการบล็อคหลัง การสำลักน้ำหรืออาหารเข้าไปในหลอดลมจากการดมยาสลบ 5
- อาจมีภาวะแทรกซ้อนเมื่อเจ็บครรภ์ครั้งต่อไป เช่น แผลมดลูกปริแตก รกเกาะลึกผิดปกติ เป็นต้น
- อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
- ลูกน้อยมีโอกาสเกิดปัญหาการหายใจ เช่น ภาวะหายใจเร็วขั่วคราว
- ลูกน้อยไม่ได้รับจุลินทรีย์สุขภาพที่ช่วยเสริมภูมิต้านทานตั้งต้นผ่านช่องคลอด อาจเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ หรือป่วยง่าย 4
- ค่าใช้จ่ายสูง
3 ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนผ่าคลอด
เมื่อตัดสินใจผ่าคลอดหรือแพทย์ให้ความเห็นว่าควรผ่าคลอด แพทย์จะกำหนดวันไว้ล่วงหน้า เพื่อให้คุณแม่ได้เตรียมตัว ดังนี้
- แนะนำให้งดน้ำงดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนทำการผ่าคลอด
- ตรวจเลือด เพื่อประเมินภาวะสุขภาพก่อนเข้ารับการผ่าคลอด เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
- ก่อนเข้ารับการผ่าคลอดจะได้รับการทำความสะอาด โกนขนบริเวณหน้าท้องหรือหัวหน่าว สวนอุจจาระ ใส่สายสวนปัสสาวะและค้างสายสวนปัสสาวะไว้จนกว่าจะผ่าคลอดเสร็จ
การดูแลขณะผ่าคลอด
แพทย์วิสัญญี จะให้ยาระงับความรู้สึก (ยาชาหรือยาสลบ) เพื่อให้คุณแม่ไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะผ่าคลอด และให้ยาแก้ปวดเพื่อลดความเจ็บปวดหลังจากหมดฤทธิ์ยาชาหรือยาสลบ
โดยคุณแม่จะถูกเจาะเส้นเลือดเพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และสำหรับให้ยาต่างๆ ในการดมยาสลบ หรือการฉีดยาชาเฉพาะที่ หรือบล็อกหลัง เพื่อให้คุณแม่มีอาการชาไม่รู้สึกเจ็บตั้งแต่ช่วงเอวลงไปถึงขาทั้งสองข้างในขณะผ่าคลอด ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการเลือกใช้วิธีระงับความเจ็บปวดโดยประเมินจากสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์เป็นหลัก
หลังจากคุณแม่ถูกระงับความรู้สึกแล้ว แพทย์จะทำความสะอาดหน้าท้องและบริเวณใกล้เคียงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ปูผ้าปราศจากเชื้อ และใช้มีดผ่าตัดที่ผนังหน้าท้อง โดยผ่าลงไปในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ชั้นกล้ามเนื้อ ชั้นเยื่อบุช่องท้อง แล้วผ่าเปิดมดลูก
จากนั้นจึงนำลูกน้อย และรกที่อยู่ในมดลูกออก หลังจากลูกน้อยคลอดแล้ว แพทย์จะเย็บปิดแผลที่ผ่าตัดในแต่ละชั้น โดยเย็บซ่อมแซมแผลที่มดลูก จากนั้นจึงเย็บปิดชั้นเยื่อบุช่องท้อง ชั้นไขมัน และเย็บปิดแผลที่ชั้นผิวหนังหน้าท้องตามลำดับ รอยแผลผ่าคลอดส่วนใหญ่เป็นแนวบิกินี่ มีขนาดยาวประมาณ 10 เซนติเมตร 3
การดูแลหลังผ่าคลอด
ขณะอยู่ที่โรงพยาบาล ภายหลังการผ่าคลอดเสร็จสิ้น คุณแม่จะได้รับการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดภายในห้องผ่าตัดเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง แพทย์จะทำการถอดสายสวนปัสสาวะภายหลังการผ่าคลอดอย่างน้อย 12 ชั่วโมง หลังถอดสาย ควรดื่มน้ำมากๆและปัสสาวะบ่อยๆ เพื่อลดการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ควรมีการขยับร่างกายให้เร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้ภายในวันแรกหลังผ่าคลอด เช่น ลุกนั่ง ยืน และเดินภายในห้องเพื่อให้ลำไส้ได้ขยับป้องกันอาการท้องอืดและลดการเกิดพังผืดในช่องท้อง 2 คุณแม่ยังจำเป็นต้องงดอาหารจนกระทั่งลำไส้ทำงานได้ตามปกติ สังเกตได้จากการผายลม เมื่อผายลม แพทย์จะเริ่มให้จิบน้ำ ต่อด้วยอาหารเหลว อาหารอ่อนและอาหารปกติ ตามลำดับ ส่วนใหญ่จะต้องอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อย 3 วัน เพื่อติดตามอาการหลังจากการผ่าคลอด แม่หลายคนต้องใช้ยาแก้ปวดผ่านทางสายน้ำเกลือและเฝ้าระวังการติดเชื้อของแผลผ่าตัด หากสบายดีทั้งมารดาและทารกก็สามารถกลับไปพักต่อที่บ้านได้
ดูแลผ่าคลอดหลังกลับบ้าน
-หลีกเลี่ยงยกของหนักด้วยท่าย่อตัว หรือยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักของทารก ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ เป็นต้น เพราะจะทำให้แผลผ่าตัดแยกและกระบังลมหย่อนได้ 1 -ใช้หมอนรองบริเวณหน้าท้องขณะให้นมบุตร หรือใช้ผ้าพันบริเวณหน้าท้อง -ใช้ยาเท่าที่จำเป็น โดยใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น -ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังคลอดควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าแพทย์จะอนุญาต -หลีกเลี่ยงการขับรถในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังคลอด เนื่องจากการคาดเข็มขัดนิรภัยจะอยู่ตรงแนวแผลผ่าคลอดอาจเกิดอาการบาดเจ็บที่แผลซ้ำได้ -แผลผ่าคลอดที่หน้าท้อง แพทย์จะปิดแผลด้วยวัสดุกันน้ำ ควรระมัดระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ โดยแผลภายนอกจะติดดีภายใน 2 สัปดาห์เมื่อมาตรวจหลังคลอด แพทย์จะแกะวัสดุปิดแผลออกและสามารถโดนน้ำได้1 -ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเพิ่มอาหาร ประเภทโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ทุกชนิด ไข่ ถั่ว งา เต้าหู้ นม เป็นต้น รับประทานอาหารที่เพิ่มธาตุเหล็ก เช่น ตับ ไข่แดง หมูเนื้อแดง รวมไปถึงอาหารประเภทผักผลไม้ และอาหารที่ต้องงด คือ อาหารสุกๆดิบๆ อาหารประเภทหมักดอง อาหารรสจัด ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1
อาการผิดปกติที่ควรพบแพทย์
- มีอาการแสดงของการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ปวดท้องอย่างรุนแรง มีอาการบวมแดงของแผล หรือมีของเหลวไหลออกมาจากแผลผ่าคลอด
- มีของเหลวกลิ่นเหม็นผิดปกติหรือมีสีที่แดงเข้มขึ้นหลังจากที่เคยเหลืองจางลงแล้ว ออกมาทางช่องคลอด
- รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะทุกครั้ง
- มีเลือดออกจนเต็มผ้าอนามัยภายใน 1 ชั่วโมงหรือมีเลือดออกต่อเนื่องกันมากกว่า 8 สัปดาห์หลังจากผ่าคลอด 6
ถึงแม้การผ่าคลอดจะปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และสามารถแก้ไขช่วยให้เด็กรอดปลอดภัยจากภาวะอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็อย่าลืมว่าการผ่าคลอดไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดกับคุณแม่ทุกคนเสมอไป ยังต้องมีรายละเอียดและข้อจำกัดในการตัดสินใจอีกมากมาย และในบางครั้งคุณแม่ก็ไม่สามารถที่จะเลือกวิธีการคลอดเองได้ค่ะ
Reference
หนึ่งเคล็ดลับสุดท้าย
จำไว้ว่าการเตรียมอาหารที่ปลอดภัยนั้นสำคัญมาก ดังนั้นโปรดตรวจสอบว่าอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่อุ่นขึ้นใด ๆ มีความร้อนตลอดเวลาก่อนที่คุณจะรับประทาน
เพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งครรภ์
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไฮ-แฟมิลี่ แคร์ไลน์
บริการให้คำปรึกษาในทุกๆเรื่องที่คุณแม่กังวลใจ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล นักโภชนาการและคุณแม่ ที่พร้อมอยู่เคียงข้าง ตลอด 24 ชั่วโมง