นมแม่ดีที่สุด
เรามุ่งมั่นที่จะช่วยให้คุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะเราเชื่อว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก ทั้งยังให้ประโยชน์กับทารกในหลายด้าน การเตรียมตัวช่วงก่อนและระหว่างการให้นมทารกนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คุณควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่สมดุล
เมื่อคุณตัดสินใจที่จะไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับการใช้นมสูตรสำหรับทารก อาจลดประสิทธิภาพในการสร้างน้ำนมของคุณเองและทำให้การกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกครั้งทำได้ยากขึ้น ดังนั้นก่อนเริ่มใช้นมสูตรสำหรับทารก คุณควรคำนึงถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมด้วย หากจำเป็นต้องใช้นมสูตรสำหรับทารก คุณควรปฏิบัติตามข้อแนะนำในการเตรียม การใช้ และการเก็บรักษา อย่างระมัดระวังเพื่อสุขภาพที่ดีของทารก
เพื่อช่วยในการตัดสินใจที่ดีที่สุดเกี่ยวกับวิธีให้อาหารทารก แนะนำปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทุกครั้ง
เลือกอ่านตามหัวข้อที่ต้องการ
พัฒนาการด้านอารมณ์ลูกวัย 9 เดือน
พัฒนาการด้านร่างกายลูกวัย 9 เดือน
พัฒนาการด้านสังคมลูกวัย 9 เดือน
การกระตุ้นพัฒนาการเด็กผ่านการเล่น
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารในวัย 9 เดือน
เช็กสัญญาณพัฒนาการล่าช้าในเด็กวัย 9 เดือน
ข้อควรระวังสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการดูแลเด็กวัย 9 เดือน
อาหารและโภชนาการสำหรับเด็กวัย 9 เดือน
วิธีเสริมพัฒนาการเด็ก 9 เดือน ด้วยกิจกรรมง่ายๆ ที่บ้าน
พัฒนาการทารก 9 เดือน เด็กจะเริ่มแสดงความผูกพันกับผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยและอาจแสดงความกลัวต่อคนแปลกหน้า นอกจากนี้ ลูกน้อยอาจมีของเล่นชิ้นโปรดที่ชอบหยิบมาเล่นบ่อย ๆ พวกเขาจะเริ่มแสดงออกถึงอารมณ์ที่หลากหลายและเริ่มเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นมากขึ้น ลูกจะเริ่มแสดงความผูกพันและติดคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลมากขึ้น บางครั้งอาจร้องไห้เมื่อต้องแยกจาก ชอบเรียกร้องความสนใจ และหากไม่ได้รับการตอบสนองอาจแสดงความหงุดหงิด เริ่มเข้าใจและตอบสนองต่ออารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่
เด็กวัย 9 เดือนมักมีพัฒนาการทางร่างกายที่ชัดเจน เด็กจะมีความแข็งแรงมากขึ้น และเริ่มสำรวจสิ่งรอบตัวผ่านการเคลื่อนไหวบางคนอาจคลานขึ้นบันไดได้ เด็กส่วนใหญ่มักจะคลานได้คล่องขึ้น และบางคนอาจสามารถปีนป่ายหรือเกาะเฟอร์นิเจอร์เพื่อลุกขึ้นยืน บางคนอาจสามารถก้าวขาไปข้างหน้าโดยเกาะเฟอร์นิเจอร์ และเริ่มใช้มือจับของเล่นและสำรวจสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น สามารถถือขวดนมเองได้และอาจเริ่มลองใช้ช้อนตักอาหาร
เด็กวัย 9 เดือนเริ่มเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาด้านสังคม พวกเขาเริ่มแสดงความสนใจต่อผู้คนรอบตัวมากขึ้น เช่น มองหน้า พยายามยิ้มให้ หรือหัวเราะเวลาที่เล่นกับคนที่คุ้นเคย เด็กจะตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้อื่น เช่น หากผู้ใหญ่หัวเราะ เด็กอาจหัวเราะตาม หรือหากผู้ใหญ่แสดงความไม่พอใจ เด็กอาจหยุดพฤติกรรมนั้นทันที นอกจากนี้ เด็กยังเริ่มแยกแยะคนคุ้นเคยกับคนแปลกหน้าได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอาจแสดงออกในรูปแบบของการร้องไห้เมื่อถูกอุ้มโดยคนไม่คุ้นหน้า สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงการพัฒนาทางสังคมที่เริ่มซับซ้อนขึ้น
การเล่นคือเครื่องมือสำคัญที่สุดในการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กวัยนี้ เพราะผ่านการเล่น เด็กจะได้ฝึกทักษะหลายด้านพร้อมกัน เช่น
-การหยิบจับสิ่งของจะช่วยเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็ก
-การคลานหรือไล่ตามของเล่นจะช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่
- การเล่นซ่อนหา เล่นจ๊ะเอ๋ จะกระตุ้นทั้งการคิด การจดจำ
-การสื่อสาร เด็กจะเริ่มเข้าใจแนวคิดเรื่องการหายไปและการปรากฏอีกครั้ง
-การเล่นของเล่นที่มีสีสัน เสียง หรือการตอบสนอง เช่น ปุ่มกดที่มีเสียง จะทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องเหตุและผล
ขณะเดียวกัน ของเล่นที่ต้องใช้การหมุน บิด ดึง จะช่วยฝึกความแม่นยำของมือและตา การพูดคุย เล่นเสียง และร้องเพลงกับลูกก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้และการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงวัยนี้ มีความอยากรู้อยากเห็นเป็นอย่างมากและเริ่มเรียนรู้จากประสบการณ์รอบตัว ลูกน้อยจะเริ่มจดจำและทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ เช่น การหยิบของเล่นตามคำบอก สนใจของเล่นที่มีปุ่มกดหรือกลไกที่ทำให้เกิดเสียงและแสง สนใจสำรวจสิ่งของรอบตัวมากขึ้น บางครั้งอาจเขย่าหรือเคาะของเล่นเพื่อดูผลลัพธ์ นอกจากนี้ ยังสามารถจำเกมที่เคยเล่นและแสดงความสนใจในของเล่นที่ชื่นชอบ
พัฒนาการเด็กวัย 9 -10 เดือนเดือนจะเริ่มพัฒนาทักษะการสื่อสารมากขึ้น แม้ว่ายังพูดเป็นประโยคไม่ได้ แต่สามารถส่งเสียงหรือแสดงออกเพื่อสื่อสารความต้องการ ตอบสนองต่อเสียงเรียกชื่อของตัวเอง เริ่มเลียนแบบเสียงพูดของผู้ใหญ่และอาจพยายามพูดตาม สามารถแสดงความต้องการโดยใช้มือ เช่น ยื่นแขนไปหาคุณเพื่อให้อุ้ม
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีพัฒนาการ 9 เดือนที่ล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อรับคำแนะนำและการประเมินที่เหมาะสม การตรวจพบและแก้ไขปัญหาได้เร็วจะช่วยให้ลูกได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้องและทันเวลาควรเฝ้าดูพฤติกรรมของลูกและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากพบสัญญาณต่อไปนี้ ไม่สามารถนั่งเองได้โดยไม่ต้องพยุง, ไม่สนใจสิ่งรอบตัว หรือดูเฉยเมยเกินไป, ไม่พยายามออกเสียงหรือเลียนแบบเสียงพูด, ไม่สามารถใช้มือหยิบจับของชิ้นเล็ก ๆ ได้ เป็นต้น
ในการดูแลเด็กวัย 9 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพราะเด็กวัยนี้เริ่มเคลื่อนไหวคล่องและอยากรู้อยากเห็น จึงเสี่ยงต่อการหยิบของเข้าปาก การปีนป่าย หรือการล้มบาดเจ็บ พื้นที่ที่เด็กเล่นควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย ปราศจากของมีคม วัตถุชิ้นเล็ก หรือปลั๊กไฟที่ไม่ได้ปิดบัง ควรหลีกเลี่ยงของเล่นที่มีขนาดเล็กเกินไปเพราะเสี่ยงต่อการกลืนหรือสำลัก
นอกจากนี้ อย่าทิ้งลูกไว้ตามลำพังบนเตียงหรือโต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อมแม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ควรหมั่นดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังควรระวังเรื่องการติดโทรศัพท์หรือหน้าจอมากเกินไป เพราะจะลดโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูก และอาจกระทบพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม
อาหารและโภชนาการในวัย 9 เดือนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะร่างกายของลูกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
-เด็กควรเริ่มทานอาหารเสริมวันละ 2-3 มื้อ โดยยังคงกินนมแม่หรือนมผงเป็นอาหารหลัก
-อาหารที่เหมาะสมควรมีทั้งคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวบด มันฝรั่งบด โปรตีน เช่น ไข่แดงต้มสุก เนื้อปลา ไก่ หรือหมูบด และผักผลไม้หลากสีเพื่อให้ได้วิตามินแร่ธาตุครบถ้วน
-เนื้อสัมผัสของอาหารควรเริ่มหยาบขึ้นเล็กน้อยจากช่วง 6-8 เดือน เพื่อให้ลูกฝึกการเคี้ยว แต่ต้องระวังไม่ให้เหนียวหรือแข็งเกินไปที่อาจทำให้ลูกสำลัก
-ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เช่น ของเค็ม ของหวานจัด และยังไม่ควรเติมเครื่องปรุงในอาหารของลูก
-การสังเกตอาการแพ้อาหารใหม่ทุกครั้งที่ให้ลูกลองอาหารชนิดใหม่เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถรับมือได้ทันหากเกิดอาการผิดปกติ เช่น ผื่นขึ้น อาเจียน หรือถ่ายเหลว
เพื่อสนับสนุนพัฒนาการเด็ก 9 เดือน คุณพ่อคุณแม่สามารถพยุงลูกให้ยืน เพื่อให้รู้จักทิ้งน้ำหนักตัวลงบนขาและเท้า ให้ลูกเล่นของเล่นที่ต้องใช้การหยิบจับ เช่น ของเล่นตอกหมุด หรือแป้นเสียบหลัก เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กที่นิ้วมือ หมั่นอ่านนิทานให้ลูกฟัง พร้อมชี้ให้ดูภาพสัตว์หรือสิ่งของที่คุ้นเคย และพูดชื่อของสิ่งนั้น ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการสื่อสาร ทั้งฝึกให้ลูกดื่มน้ำและนมจากถ้วย และให้ลูกหยิบอาหารเข้าปากเอง เพื่อส่งเสริมความเป็นอิสระและพัฒนาทักษะการกิน
เด็กวัย 9 เดือนจะมีพัฒนาการที่โดดเด่นทั้งด้านร่างกาย เช่น คลาน เกาะยืน หยิบของชิ้นเล็กได้ดี และด้านอารมณ์ เริ่มแยกแยะคนคุ้นเคยกับคนแปลกหน้า มีพัฒนาการทางภาษา เริ่มพูดพยางค์ซ้ำ เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ และเริ่มตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้อื่นได้ เด็กวัยนี้เล่นของเล่นที่ต้องใช้มือจับ บีบ กด เคาะ หรือมีเสียงตอบสนองได้ดี รวมถึงกิจกรรมเล่นจ๊ะเอ๋ที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ ส่วนการนอนควรนอนวันละ 13-15 ชั่วโมง และควรจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย หลีกเลี่ยงของเล่นชิ้นเล็กหรือพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุ
ในด้านอาหาร เด็กควรได้รับอาหารเสริมวันละ 2-3 มื้อ ควบคู่กับนมแม่หรือนมผง โดยเริ่มเพิ่มเนื้อสัมผัสของอาหารให้หยาบขึ้น และเลือกอาหารที่หลากหลาย เช่น ข้าวบด เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการอย่างรอบด้าน และควรสังเกตการแพ้อาหารใหม่เสมอ
ทารกวัย 9 เดือนควรมีพัฒนาการที่เด่นชัดในหลายด้าน เช่น การเคลื่อนไหวที่คล่องตัวขึ้น สามารถคลานได้อย่างดี เด็กสามารถใช้นิ้วมือหยิบของชิ้นเล็ก ๆ ได้ดีขึ้น และเริ่มแสดงความสนใจในการสำรวจสิ่งรอบตัวมากขึ้น เด็กวัยนี้มักแสดงความผูกพันกับพ่อแม่หรือผู้ดูแล และอาจเริ่มแสดงความกลัวเมื่อพบคนแปลกหน้า เด็กจะสามารถตอบสนองต่อเสียงเรียกชื่อของตัวเอง และเริ่มเข้าใจคำสั่งง่ายๆ เช่น "มา" หรือ "อย่า"
เด็กวัย 9 เดือนสามารถพูดคำที่มีพยางค์ซ้ำ ๆ ได้ เช่น "มามา" "ปาปา" "ตา" หรือ "บาย" แม้ว่าคำพูดเหล่านี้อาจยังไม่ชัดเจนและอาจไม่มีความหมายเฉพาะเจาะจง แต่เป็นสัญญาณที่ดีว่าทารกเริ่มเรียนรู้การสื่อสารผ่านเสียงพูด
เด็กวัย 9 เดือนสามารถเล่นของเล่นที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ได้ อาทิเช่น ของเล่นที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก, บล็อกไม้, ลูกบอลยางนิ่ม หรือของเล่นที่ต้องบีบกดเพื่อให้เกิดเสียง นอกจากนี้ เด็กยังสนุกกับการเล่นจ๊ะเอ๋ การปรบมือ หรือการเคาะของเล่นสองชิ้นเข้าด้วยกัน บางคนอาจเริ่มสนใจของเล่นที่มีปุ่มกดและมีเสียงหรือแสงเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุและผล
เด็กวัย 9 เดือนควรนอนวันละประมาณ 13-15 ชั่วโมงต่อวัน โดยแบ่งเป็นการนอนกลางคืนประมาณ 10-12 ชั่วโมง และการนอนกลางวัน 2 ครั้ง ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง พฤติกรรมการนอนของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกัน เด็กบางคนอาจตื่นกลางดึกบ่อยเนื่องจากฟันเริ่มขึ้น หรืออาจมีพัฒนาการทางร่างกายที่ทำให้ตื่นมาเคลื่อนไหวในเวลากลางคืน คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างกิจวัตรการนอนที่สม่ำเสมอ
อ้างอิงจาก
https://www.samitivejhospitals.com/
M25-024
ช่วงเวลาที่สำคัญเป็นพิเศษคือ ขวบปีแรก เพราะเป็นช่วงที่ลูกเริ่มรู้ว่าตัวเองชอบอาหารประเภทไหนซึ่งความชอบนี้จะติดตัวลูกไปจนลูกอายุ 2-8 ขวบ
บริการให้คำปรึกษาในทุกๆเรื่องที่คุณแม่กังวลใจ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล นักโภชนาการและคุณแม่ ที่พร้อมอยู่เคียงข้าง ตลอด 24 ชั่วโมง