นมแม่ดีที่สุด

เรามุ่งมั่นที่จะช่วยให้คุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะเราเชื่อว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก ทั้งยังให้ประโยชน์กับทารกในหลายด้าน การเตรียมตัวช่วงก่อนและระหว่างการให้นมทารกนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คุณควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่สมดุล

เมื่อคุณตัดสินใจที่จะไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับการใช้นมสูตรสำหรับทารก อาจลดประสิทธิภาพในการสร้างน้ำนมของคุณเองและทำให้การกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกครั้งทำได้ยากขึ้น ดังนั้นก่อนเริ่มใช้นมสูตรสำหรับทารก คุณควรคำนึงถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมด้วย หากจำเป็นต้องใช้นมสูตรสำหรับทารก คุณควรปฏิบัติตามข้อแนะนำในการเตรียม การใช้ และการเก็บรักษา อย่างระมัดระวังเพื่อสุขภาพที่ดีของทารก

เพื่อช่วยในการตัดสินใจที่ดีที่สุดเกี่ยวกับวิธีให้อาหารทารก แนะนำปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทุกครั้ง

พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมเคล็ดลับดูแลลูกน้อยให้เติบโตสมวัย

เลือกอ่านตามหัวข้อที่ต้องการ

พัฒนาการเด็ก 6 เดือน เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ และพฤติกรรมอย่างชัดเจน คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มสังเกตเห็นพัฒนาการของลูกที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การแสดงอารมณ์ หรือปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว เด็ก 6 เดือน จะเริ่มสนใจสิ่งรอบข้างมากขึ้น มองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ หัวเราะหรือส่งเสียงตอบสนองต่อเสียงที่คุ้นเคย อีกทั้งยังเริ่มเรียนรู้วิธีใช้มือหยิบจับสิ่งของและแสดงออกทางอารมณ์ได้หลากหลายขึ้น ดังนั้น การดูแลและส่งเสริมพัฒนาการทารก 6 เดือน อย่างถูกต้องจะช่วยให้เขาเติบโตสมวัย แข็งแรง และมีพัฒนาการที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ

 

พัฒนาการด้านร่างกายลูกวัย 6 เดือน

  • พลิกคว่ำได้คล่อง เริ่มคืบไปข้างหน้า หรือข้างหลังได้บ้าง
  • นั่งทรงตัวได้ดีขึ้น นานขึ้น แต่ยังต้องมีอะไรพยุงหลังไว้บ้าง เพราะหน้าอาจคะมำได้ง่ายๆ
  • สามารถถือขวดนมได้เอง จับของเล่น และเปลี่ยนของจากมือข้างหนึ่งมาอีกข้างหนึ่งได้ง่ายๆ
  • ส่งเสียงได้หลายระดับเสียง เริ่มออกเสียงที่มีพยัญชนะ
  • คว้าได้แม่นยำ แล้วปล่อยให้ตกลงไป
  • เวลานอนหงายชอบหยิบจับเท้ามาเล่น เอาเท้าขึ้นมาอม
  • บางคนอาจจะเริ่มมีฟันขึ้นมา หรือมีอาการคันเหงือก

 

 

พัฒนาการด้านสังคม

  • เลียนแบบท่าทาง หรือสีหน้าของคนใกล้ชิด
  • แยกว่าคนไหนเป็นผู้ใหญ่ คนไหนคือเด็กได้
  • ส่งเสียงร้องเมื่อต้องการความช่วยเหลือ แต่เป็นการส่งเสียงแบบมีความหมาย
  • ชอบเล่นกับคนอื่นๆ มากขึ้น
  • ชอบเอื้อมมือไปจับหน้าเด็กคนอื่นๆ

 

พัฒนาการเด็กกับการเรียนรู้

พัฒนาการเด็กวัยนี้ คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ทักษะใหม่ๆได้แม้ว่าลูกจะยังพูดโต้ตอบไม่ได้ คุณแม่ก็ควรพูดคุยกับลูกบ่อยๆ ส่งยิ้มให้ลูกจะช่วยให้ลูกพูดได้เร็วขึ้น  เมื่อถึงมื้ออาหารก็เปิดโอกาสให้ลูกได้ทานเองเพื่อฝึกการใช้มือและนิ้ว ลูกน้อยจะสนุกกับการทานอาหาร เวลาอาบน้ำจะยิ่งเป็นเวลาสนุกสนานมากขึ้นสำหรับลูก เพราะลูกจะได้เรียนรู้ว่าการเคลื่อนไหวร่างกายอาจทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้น เช่น การตีน้ำในอ่างดังจ๋อมแจ๋ม

 

พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของเด็ก 6 เดือน

ในช่วงวัยพัฒนาการ 6 เดือน ทารกจะเริ่มทดลองใช้เสียงเพื่อสื่อสารมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะได้ยินเสียงอ้อแอ้ เสียงสูงต่ำที่แตกต่างกัน รวมถึงการเป่าฟองน้ำลาย ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่า vocal play หรือการเล่นเสียง เป็นขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาทักษะทางภาษา

เด็กวัยนี้จะสนุกกับการ "สนทนา" แบบผลัดกันส่งเสียง และเริ่มจับจังหวะของการพูดคุยได้ดีขึ้น บางคนอาจเริ่มออกเสียงซ้ำ ๆ เช่น “บ่ะบ่ะบ่ะ” หรือรวมเสียงเป็นพยางค์ยาวขึ้น เช่น “บากา” นอกจากนี้ การที่คุณพ่อคุณแม่เรียกชื่อลูกบ่อย ๆ อย่างชัดเจน จะช่วยให้เด็กเรียนรู้การเชื่อมโยงเสียงกับตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของพัฒนาการด้านภาษา การพูดคุยและโต้ตอบกับลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้พัฒนาการด้านภาษาของเด็กวัย 6 เดือนเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ และช่วยให้เขาเรียนรู้การสื่อสารได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

อาหารและโภชนาการสำหรับเด็กวัย 6 เดือน

เมื่อลูกอายุครบ 6 เดือน จะสามารถเริ่มให้ทานอาหารเสริมได้  ซึ่งควรให้เริ่มจากอาหารที่ย่อยง่ายและมีประโยชน์ก่อน โดยเริ่มจากปริมาณน้อย ๆ และค่อย ๆ เพิ่มขึ้น พร้อมกับสังเกตอาการหลังทานของลูกอย่างใกล้ชิด อาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัย6 เดือน อาทิเช่น ข้าวบดหรือข้าวตุ๋น, ผักต้มบด เช่น ฟักทอง แครอท มันฝรั่ง เนื้อสัตว์บดละเอียด เช่น ไก่ ปลา ตับ และผลไม้บด เช่น กล้วย อะโวคาโด สาลี่ ให้รับประทานอาหารรสธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งอาหารด้วยน้ำตาล น้ำผึ้ง ผงชูรส และผงปรุงรส หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด มัน เค็มรวมทั้งอาหารที่มีความแข็ง ซึ่งอาจจะติดคอได้ เช่น ถั่ว เมล็ดพืช เป็นต้น 

 

วิธีเสริมพัฒนาการเด็ก 6 เดือน ด้วยกิจกรรมง่าย ๆ ที่บ้าน

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อยได้ด้วยกิจกรรมที่กระตุ้นการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่าง ๆ

  • ให้ลูกได้ฝึกนั่ง โดยใช้หมอนรองพยุง หรือ ให้ลูกได้นอนคว่ำและฝึกใช้แขนยันตัวขึ้น
  • เล่นเกมจับของเล่นที่กระตุ้นการใช้มือและนิ้ว
  • เล่นจ๊ะเอ๋หรือทำหน้าตลกให้ลูกดู
  • อุ้มและกอดลูกบ่อย ๆ เพื่อสร้างความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย
  • พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ และเลียนเสียงที่ลูกเปล่งออกมา เรียกชื่อลูกบ่อย ๆ เพื่อช่วยให้เขาจดจำได้
  • อ่านนิทานหรือร้องเพลงที่มีจังหวะสนุกสนานให้ฟัง

กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยในทุก ๆ ด้าน และช่วยให้เขาเติบโตอย่างสมวัย

 

การกระตุ้นพัฒนาการเด็กผ่านการเล่น

  • ทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ให้ลูกเลียนเสียง
  • ชูมือหรือของเล่น เพื่อให้ลูกได้เอื้อมมือคว้า
  • หายางกัดเล่นให้ลูกเพื่อบรรเทาอาการคันเหงือก
  • จับอุ้มนั่งเล่นบนตัก บนพื้น หรือในอ่างที่เด็กจับขอบอ่างได้
  • ให้เล่นของเล่นที่มีความลึก เช่น ถ้วย กล่อง นำมาซ้อนกัน
  • กลิ้งลูกบอลลูกเล็ก ๆ ให้มองตามและเอื้อมไปหยิบ
  • เล่นจั๊กจี้เบาๆ กับลูกดูสิ แม่กับลูกจะได้หัวเราะสนุกสนานร่วมกัน คุณแม่ควรพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เพราะจะเป็นการฝึกพัฒนาการด้านการพูดของลูกได้เป็นอย่างดี

 

ข้อควรระวังสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการดูแลเด็กวัย 6 เดือน

การดูแลเด็กวัย 6 เดือน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของลูกเป็นหลัก นี่คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังเป็นพิเศษ

  • เด็กวัยนี้เริ่มพลิกตัวได้คล่องขึ้น อาจตกเตียงหรือโซฟาได้ง่าย ควรให้ลูกนอนในพื้นที่ปลอดภัยและมีขอบกันตก
  • ของเล่นควรมีขนาดใหญ่พอที่จะไม่สามารถกลืนลงคอได้ หลีกเลี่ยงของเล่นที่มีชิ้นส่วนเล็ก ๆ หรือวัสดุที่อาจเป็นอันตราย
  • เมื่อลองอาหารใหม่ให้ลูก ควรเริ่มทีละชนิดและสังเกตอาการแพ้ เช่น ผื่น คัน อาเจียน หรือท้องเสีย
  • ล้างมือก่อนและหลังดูแลลูกเสมอ รวมถึงทำความสะอาดของเล่นและขวดนมอย่างสม่ำเสมอ

 

เด็กวัย 6 เดือนมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเริ่มแสดงความสามารถด้านร่างกาย อารมณ์ และภาษาอย่างชัดเจน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตสัญญาณพัฒนาการล่าช้า เพื่อให้สามารถแก้ไขได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้ การดูแลความปลอดภัย การให้น้องได้ทานอาหารที่เหมาะสม และการกระตุ้นพัฒนาการผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง สมวัย และมีความสุข การเลี้ยงลูกในวัยนี้อาจเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่หากคุณพ่อคุณแม่ให้ความใส่ใจและดูแลลูกอย่างเหมาะสม ลูกน้อยจะสามารถพัฒนาไปตามวัยได้อย่างสมบูรณ์และ มีความสุขในทุก ๆ วัน


การให้นมทารก

เมื่อลูกถึงวัยนี้ คุณควรเริ่มคิดถึงการให้อาหารอื่นๆแก่ลูกนอกเหนือจากการให้นม (ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ควรเริ่มให้อาหารตามวัย เมื่อทารกอายุครบ 6 เดือน) เพราะการฝึกให้ลูกกินอาหารตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อในปากของลูกซึ่งมีผลต่อการพูดชัด รวมทั้งทำให้ลูกได้เรียนรู้รสชาติอาหารแบบใหม่ๆ อีกด้วยค่ะ


บทความที่เกี่ยวข้อง

carelinepic_resized2

ไฮ-แฟมิลี่ แคร์ไลน์

บริการให้คำปรึกษาในทุกๆเรื่องที่คุณแม่กังวลใจ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล นักโภชนาการและคุณแม่ ที่พร้อมอยู่เคียงข้าง ตลอด 24 ชั่วโมง

x