คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตสัญญาณอาการท้องผูกในลูกเล็กได้ง่ายๆ จากการที่ลูกร้องไห้โยเย หรือแผดเสียงเวลาพยายามเบ่งอุจจาระแรงๆ อุจจาระแห้งแข็ง และเป็นเม็ดๆ มีกลิ่นเหม็น ไม่อยากกินอาหาร ท้องป่องและแข็ง หงุดหงิดง่าย เมื่อมีอาการรวมๆ ดังนี้ให้สันนิษฐานได้เลยว่าลูกรักกำลังท้องผูกค่ะ
5 สาเหตุหลักของอาการท้องผูกในเด็กหัดเดิน
- การดื่มของเหลว)น้อยเกินไป จึงไม่เพียงพอที่จะรักษาปริมาณน้ำในร่างกายจากที่สูญเสียไป และไม่พอที่ช่วยให้อุจจาระนุ่มลงและขับถ่ายง่าย
- มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง มักจะเกิดขึ้นเมื่อลูกไม่สบายและเคลื่อนไหวร่างกายไม่มากเหมือนเมื่อก่อน การออกกำลังกายจะสามารถช่วยกระตุ้นให้อาหารเคลื่อนลงไปตามทางเดินอาหารได้ดีขึ้นค่ะ
- การกินอาหารน้อยลง ซึ่งอาจเกิดจากความอยากอาหารลดลงเพราะไม่สบาย เช่น ไข้หวัด ปกติแล้วการกินอาหารน้อยลง ทำให้การขับถ่ายน้อยลงตามไปด้วย จึงมีอุจจาระตกค้างในลำไส้ใหญ่นานขึ้นและทำให้อุจจาระแข็งและแห้ง
- การกินอาหารที่มีใยอาหารน้อยเกินไป ซึ่งใยอาหารจากผักผลไม้จะช่วยให้อุจจาระนิ่ม ควบคุมการขับถ่ายให้เป็นปกติ และป้องกันอาการท้องผูกได้นะคะ
- การอั้นอุจจาระ ซึ่งอาจจะอยากเล่นมากกว่าไปนั่งส้วม หรือ เคยถ่ายอุจจาระแล้วเจ็บเนื่องจากท้องผูก ลูกเลยกลัวจนไม่ยอมเบ่ง การอั้นอุจจาระที่เกิดขึ้นซ้ำๆ อาจเป็นสาเหตุทำให้น้ำจากอุจจาระถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้อุจจาระแข็งและแห้ง
เมื่อทราบสาเหตุของอาการท้องผูก คุณพ่อคุณแม่อาจแก้อาการเบื้องต้นได้ดังนี้ค่ะ
4 เคล็ดลับลดอาการท้องผูกของลูกวัยหัดเดิน
- ให้ดื่มของเหลวเพิ่มขึ้น ซึ่งเด็กวัยหัดเดินควรได้รับของเหลววันละ 1.3 ลิตร (5.2 แก้ว) นะคะ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำเป็นประจำทุกวัน นอกเหนือจากที่ได้รับจากอาหารตามปกติ ถ้าน้ำไม่ช่วยบรรเทาอาการ ลองให้ลูกดื่มน้ำแอปเปิ้ล น้ำลูกพรุน และน้ำลูกแพร์ ชนิดไม่เติมน้ำตาลเป็นประจำทุกวัน โดยเจือจางด้วยน้ำนะคะ ไม่ใช้น้ำผลไม้เข้มข้น
- บริโภคใยอาหารเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักและผลไม้ถั่วเมล็ดฝัก ธัญพืชไม่ขัดสีและขนมปังโฮลวีท
- สอนให้ลูกติดนิสัยนั่งส้วมเป็นประจำ โดยให้ลูกติดนิสัยนั่งส้วมอย่างน้อย 15 นาทีหลังมื้ออาหาร ดูแลให้ลูกนั่งบนโถส้วมสบายๆ โดยวางที่นั่งเตี้ยๆ ไว้สำหรับพักเท้า คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้การนั่งส้วมเป็นประสบการณ์ที่ดีของลูกนะคะ เช่น หลังจากเสร็จแล้ว ควรให้รางวัลลูกทุกครั้งด้วยคำชมและให้สติกเกอร์ หรืออ่านนิทานที่ลูกชอบก็ได้ค่ะ
- เพิ่มกิจกรรมให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น เช่น การออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายและลำไส้เคลื่อนไหวตลอดเวลา สนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทั้งในร่ม และกลางแจ้ง อย่างน้อยวันละ 30 นาที เช่น กระโดดเชือก เล่นซ่อนแอบ หรือวิ่งเล่นในสวนสาธารณะ
คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกแก้ปัญหาท้องผูกเบื้องต้นตามสาเหตุก่อน หากอาการไม่ดีขึ้น หรือถ้าลูกมีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง ควรรีบปรึกษาแพทย์นะคะ