ลูกไอไม่หยุด ทำยังไงดี? รวมวิธีแก้ลูกไอตอนกลางคืน ช่วยให้ลูกหลับสบาย
เลือกอ่านตามหัวข้อที่ต้องการ
เมื่อลูกไอหนักตอนกลางคืน ควรใช้ยาไหม?
วิธีป้องกันลูกไอตอนกลางคืนในระยะยาว
อาการไอของลูกตอนกลางคืนเป็นสิ่งที่ทำให้พ่อแม่หลายคนกังวลใจไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อลูกไอต่อเนื่อง จนนอนไม่หลับ หรือตื่นมานั่งไอ ร้องไห้กลางดึก ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบกับการนอนของลูกแล้ว ยังส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย และฟื้นตัวช้าอีกด้วย ในบทความนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของการไอตอนกลางคืนของเด็ก พร้อมแนะนำวิธีดูแล และป้องกันที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน
สาเหตุที่ลูกไอตอนกลางคืน
เด็กเล็กมักไอในตอนกลางคืนบ่อยกว่ากลางวัน เพราะขณะที่นอนราบ เสมหะ และน้ำมูกจะไหลลงคอได้ง่าย ทำให้เกิดการระคายเคือง และเกิดอาการไอโดยส่วนใหญ่อาการไอจะพบในช่วงที่เด็กมีอาการเจ็บป่วย ดังต่อไปนี้
ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ: อาการติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก
ภูมิแพ้: สารก่อภูมิแพ้ในห้องนอน เช่น ฝุ่น ละอองจากผ้าห่ม หรือไรฝุ่น
โรคหืดในเด็ก (asthma): เด็กที่เป็นหืดมักไอหรือหายใจมีเสียงหวีด โดยเฉพาะเวลากลางคืน
กรดไหลย้อน: เด็กบางรายอาจมีกรดจากกระเพาะย้อนขึ้นมาที่คอ ทำให้ไอหลังดื่มนมหรือหลังนอน
วิธีแก้ลูกไอตอนกลางคืน
หากลูกมีอาการไอตอนกลางคืน พ่อแม่สามารถช่วยบรรเทาอาการไอของลูกได้ด้วยวิธีเหล่านี้:
ปรับท่านอน: ให้ลูกหงายศีรษะสูงขึ้นเล็กน้อย โดยใช้หมอนรองตั้งแต่ช่วงอก จะช่วยลดการไหลย้อนของเสมหะ
เพิ่มความชื้นในห้อง: ใช้เครื่องเพิ่มความชื้น (humidifier) หรือวางภาชนะใส่น้ำไว้ในห้องนอน เพราะหากหากห้องนอนอากาศแห้งมาก จะทำให้คอแห้งและกระตุ้นให้ไอง่ายขึ้น
ให้จิบน้ำอุ่น: น้ำอุ่นจะช่วยลดการระคายคอ ทำให้ลูกไอลดลงและนอนหลับได้ดีขึ้น
ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ: โดยเฉพาะก่อนนอน จะช่วยให้จมูกโล่ง ลดโอกาสการไอระหว่างหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ และให้ลูกหลีกเลี่ยงของหวานหรือเย็นก่อนนอน
เมื่อลูกไอหนักตอนกลางคืน ควรใช้ยาไหม?
สำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้สูง เสมหะเขียว ควรพาลูกไปพบแพทย์ แพทย์อาจให้ยาละลายเสมหะ หรือยาลดน้ำมูกที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก
เมื่อไหร่ควรปรึกษาแพทย์
หากลูกมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการไอ ควรพาไปพบแพทย์ทันที:
ไอต่อเนื่องนานเกิน 1 สัปดาห์
มีไข้สูง หายใจลำบาก หรือหอบเหนื่อย
ไอเสียงแหลมหรือมีเสียงหวีดตอนหายใจ
มีเสมหะสีเขียว เหลือง หรือมีเลือดปน
ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ หอบหืด หรือการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง
วิธีป้องกันลูกไอตอนกลางคืนในระยะยาว
การป้องกันอาการไอในเด็กสามารถเริ่มต้นได้ที่บ้าน ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้:
ทำความสะอาดห้องนอนสม่ำเสมอ โดยเฉพาะที่นอน หมอน ผ้าห่ม และผ้าม่าน
หลีกเลี่ยงการใช้พรมหรือของตกแต่งที่สะสมฝุ่นง่ายในห้องลูก
เปิดหน้าต่างให้มีการระบายอากาศบ้าง หากอากาศภายนอกไม่เย็นหรือมีฝุ่นมาก
ให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
พาลูกตรวจสุขภาพตามนัด และรับวัคซีนป้องกันโรคที่จำเป็น