อาการเตือนของการตั้งครรภ์นอกมดลูก
อาการของภาวะท้องนอกมดลูกอาจคล้ายกับการตั้งครรภ์ปกติในระยะแรก แต่จะมีอาการเพิ่มเติม ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ทันที เช่น
- ปวดท้องเฉียบพลัน โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย หรือมีอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
- มีภาวะตกเลือด หรือเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดรุนแรง หรือเป็นลม
- ปวดไหล่ ลำคอ หรือทวารหนัก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะเลือดออกในช่องท้อง
สาเหตุของภาวะท้องนอกมดลูก
ภาวะท้องนอกมดลูกมักเกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เมื่อไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิไม่สามารถเคลื่อนเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูกได้ตามปกติ แต่กลับฝังตัวผิดตำแหน่ง เช่น ท่อนำไข่ รังไข่ ปากมดลูก หรือช่องท้อง ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย ดังนี้
- ความผิดปกติของท่อนำไข่
- การอักเสบหรือติดเชื้อ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ (PID)
- ท่อนำไข่ตีบหรือเสียหาย จากการผ่าตัด เคยท้องนอกมดลูกมาก่อน หรือมีพังผืด
- ความผิดปกติของโครงสร้างท่อนำไข่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยกำเนิด
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมน
- การใช้ ยาคุมกำเนิดแบบห่วงอนามัย ยาคุมฉุกเฉิน อาจส่งผลต่อการเคลื่อนตัวของไข่
- ระบบฮอร์โมนไม่สมดุล ส่งผลให้ไข่เคลื่อนตัวผิดปกติ
- ปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมและอายุ
- การสูบบุหรี่ มีผลต่อการทำงานของท่อนำไข่
- อายุมากกว่า 35 ปี ระบบสืบพันธุ์อาจทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการฝังตัวของไข่
- เคยมีประวัติหรือการรักษาที่เกี่ยวข้อง
- เคยตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน มีโอกาสเกิดซ้ำ 10-15%
- เคยผ่าตัดในช่องท้อง เช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง หรือเนื้องอกมดลูก
- การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
- ภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ
- ภาวะมีบุตรยาก
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมดลูกและท่อนำไข่
การรักษาภาวะท้องนอกมดลูก
เมื่อพบการตั้งครรภ์นอกมดลูก แพทย์จะต้องยุติการตั้งครรภ์ทันทีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต
การใช้ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate)
ยาเมโธเทรกเซทเหมาะสำหรับบางกรณี เช่น hCG ต่ำและท่อนำไข่ยังไม่แตก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยานี้ โดยมีอัตราความสำเร็จ 95% หลังฉีดยาผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง ซึ่งสามารถบรรเทาด้วยยาพาราเซตามอล แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้อักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟนร่วมกับยาเมโธเทรกเซท เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียง แพทย์จะตรวจระดับ hCG จนกว่าจะไม่พบ หรืออาจต้องฉีดยาซ้ำ
การผ่าตัด
การท้องนอกมดลูกส่วนใหญ่รักษาด้วยการผ่าตัด หากท่อนำไข่อีกข้างปกติ แพทย์จะใช้วิธีผ่าเปิดหน้าท้องเหมือนกับการผ่าคลอด โดยตัดท่อนำไข่ออกไปด้วย เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ แต่ถ้าท่อนำไข่อีกข้าง(ที่เหลือ)ไม่ค่อยสมบูรณ์ และคนไข้ยังต้องการมีบุตร แม้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซ้ำ แพทย์จะเลือกผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนที่มีการตั้งครรภ์ออกแล้วเก็บท่อนำไข่ไว้
หากท่อนำไข่ฉีกขาดหรือผู้ป่วยไม่สามารถมาพบแพทย์หลังการใช้ยาเมโธเทรกเซท แพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านหน้าท้องหรือส่องกล้องเพื่อนำตัวอ่อนออกและซ่อมแซมท่อนำไข่ บางกรณีอาจต้องตัดท่อนำไข่ออก หากมีความเสียหายหรือเลือดออกมาก หลังการผ่าตัดแพทย์อาจให้ฉีดยาเมโธเทรกเซทเพิ่มเติม
ภาวะแทรกซ้อนที่ควรระวัง
- ท่อนำไข่แตกและเลือดออกในช่องท้อง: การเจริญเติบโตของตัวอ่อนในท่อนำไข่อาจทำให้ท่อนำไข่ฉีกขาด ส่งผลให้มีเลือดออกในช่องท้องอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึง
- ภาวะช็อกจากการเสียเลือด: การเสียเลือดปริมาณมากอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
- ภาวะมีบุตรยาก: ความเสียหายต่อท่อนำไข่อาจลดโอกาสในการตั้งครรภ์ในอนาคต
ท้องนอกมดลูกป้องกันได้หรือไม่
แม้ไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่สามารถลดความเสี่ยงได้โดย
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
- หมั่นตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ และสังเกตความผิดปกติของร่างกายเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของท่อนำไข่
โอกาสตั้งครรภ์หลังจากท้องนอกมดลูก
หลังจากท้องนอกมดลูก โอกาสตั้งครรภ์อีกครั้งยังคงมี แต่ขึ้นอยู่กับสุขภาพของมดลูกและท่อนำไข่ ผู้ที่มีประวัติภาวะนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์