หัวนมแตกทำแม่เจ็บขณะให้นมลูกทำยังไงดี? พร้อมวิธีดูแล และป้องกันอย่างถูกวิธี
สำหรับคุณแม่ให้นมบุตรนั้นปัญหา "หัวนมแตก" ถือเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย ซึ่งสร้างความเจ็บปวดทั้งทางร่างกาย จิตใจ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณแม่หลาย ๆ คน รู้สึกท้อ ถึงขั้นหยุดให้นมลูกก็มี ทั้งที่ความจริงแล้วปัญหานี้สามารถป้องกัน และรักษาได้ หากรู้วิธีในการดูแลอย่างถูกต้อง บทความนี้จะพาไปรู้จัก สาเหตุ การดูแลเมื่อหัวนมแตก และการป้องกันภาวะหัวนมแตก เพื่อให้คุณแม่สามารถให้นมแม่ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย ตามที่ตั้งใจไว้
เลือกอ่านตามหัวข้อที่ต้องการ
วิธีป้องกันหัวนมแตกตั้งแต่เนิ่น ๆ
หัวนมแตกคืออะไร?
หัวนมแตก คือ อาการที่ผิวหนังบริเวณหัวนมเกิดการฉีกขาด ลอก แดง เป็นแผล อาจมีเลือดซึม หรือรู้สึกแสบขณะให้นมลูก อาการนี้มักเกิดในช่วงแรก ๆ ของการให้นม เพราะคุณแม่ยังไม่ชำนาญในเรื่องการจัดท่าทางเพื่อให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี หรืออาจเกิดหลังจากให้นมบ่อย ๆ โดยไม่ได้พักหัวนม ซึ่งหากปล่อยไว้จะทำให้เจ็บหัวนมมากและอาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงตามมา"
สาเหตุของหัวนมแตก
สาเหตุหลัก ๆ ของปัญหาหัวนมแตกเกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ลูกอมหัวนมไม่ลึกพอ: ดูดได้แค่ปลายหัวนมโดยไม่ครอบลานนม จนทำให้หัวนมเกิดการเสียดสีและเป็นแผลได้
- จัดท่าให้นมไม่ถูกต้อง: เช่น กอดลูกไม่แนบชิด หรือลูกเอียงคอมากเกินไป ทำให้ต้องออกแรงดูดมากขึ้น และอาจดูดผิดวิธีได้
- ให้นมถี่เกินไป: หัวนมไม่ได้พัก ถูกเสียดสีบ่อยๆจากการดูดทำให้เกิดแผลแตกได้
- ใช้เครื่องปั๊มนมผิดวิธี: เช่น ใช้แรงดูดสูงเกินไป หรือกรวยปั๊มไม่สัมพันธ์กับขนาดของหัวนม
- ผิวแห้ง: หรือแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ล้างเต้านม เช่น สบู่สูตรเข้มข้น หรือผ้าเช็ดทำความสะอาดที่มีแอลกอฮอล์ผสม